วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง

หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง
หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน เป็นการถอดโดยวิธีการถ่ายเสียง  เพื่อให้การอ่านคำภาษาไทยที่เขียนด้วยอักษรโรมันให้ได้ใกล้เคียง โดยไม่มีการคำนึงถึงการสะกดการันต์ และวรรณยุกต์  เช่น จันทร์ chan, พระ phra  และ แก้ว kaeo ทุกวันนี้เรามักจะเจอป้าย หรือข้อความมากมายที่ยังถอดอักษรแบบผิดๆ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากสิ่งรอบตัวเรา คือวิธีการถอดอักษรจากชื่อและนามสกุลของตนเองหรือชื่อของบุคคลทั่วไป ในบทเรียนดังกล่าวจะประกอบไปด้วยเรื่องการเทียบเสียงพยัญชนะและสระ  ความหมายของคำ  การใช้เครื่องหมาย “-”  เพื่อแยกพยางค์ การแยกคำ การใช้อักษรตัวใหญ่ การถอดชื่อภูมิศาสตร์และการถอดคำทับศัพท์
การเทียบเสียงพยัญชนะและสระ เราจะสังเกตเห็นว่าสะกดผิดกันบ่อยมากในอักษรบางตัวและสระบางตัวการเทียบเสียงพยัญชนะและสระ มักจะมีการสะกดผิดกันบ่อยมากในอักษรบางตัว และสระบางตัว การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงของราชบัณฑิตยสถาน มีจุดประสงค์เขียนไว้ในประกาศว่า เพื่อให้อ่านคำไทยในตัวอักษรโรมันได้ใกล้เคียงกับคำเดิม แต่ก็ได้รับการวิพากษ์ว่ายังไม่ดีเพียงพอสำหรับชาวต่างชาติในการอ่านภาษาไทย บางตัวไม่มีสัญลักษณ์หรือระบบแทนเสียงวรรณยุกต์ สระสั้น และสระยาว ใช้ตัวอักษรเดียวกัน เช่น อะ และ อา ใช้ ตัวอักษร เหมือนกัน
ความหมายของคำ หน่วยคำหมายถึง หน่วยที่เล็กที่สุดและมีความหมาย อาจมีเพียงพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์ก็ได้ เช่น นา ที นาที ลอง กอง ลองกอง และคำหมายถึงหน่วยคำ  1 หน่วยคำ หรือมากกว่านั้น เช่น หน้า โต๊ะ ลูกเสือ จานผี มหาราช คำประสม หมายถึง หน่วยคำตั้งแต่ 2 หน่วยคำขึ้นไป เมื่อรวมกันแล้วมีความหมายใหม่หรือมีความหมายเพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น ลูกเสือ หมายถึงคน การใช้คำสามานยนาม คือคำนามทั่วไปเช่น พระ คน เสื้อ สัตว์ แมว องค์กร ส่วนชื่อภูมิศาสตร์คือคำนามทั่วไปที่บอกลักษณะภูมิประเทศตามธรรมชาติ รวมทั้งการเขียนทับศัพท์
นอกจากนี้ ถึงแม้ระบบของราชบัณฑิตยสถานจะที่ใช้ในเอกสารราชการเกือบทั้งหมด แต่ก็มีการเขียนคำทับศัพท์ในรูปแบบอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงที่เพี้ยนไปจากเสียงภาษาไทย และเลี่ยงความหมายที่ไม่ดีในภาษาอังกฤษและภาษาอื่น เช่นคำว่า "ธง" หรือ "ทอง" เมื่อทับศัพท์ตามระบบราชบัณฑิตทั้งสองคำจะสะกดได้คำว่า "thong" ซึ่งในภาษาอังกฤษหมายถึง ธอง คือกางเกงชั้นในประเภทหนึ่ง จึงเลี่ยงไปใช้คำว่า "tong" แทน  ดังนั้นการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันให้ถูกต้อง โดยอาศัยการฝึกฝนบ่อยๆ เพื่อนำไปสู่การแปลงานแปลที่ดี ออกมาอย่างถูกต้อง และสมบูรณ์

รูปแบบกระบวนการแปล (Model of the Translation Process )

รูปแบบกระบวนการแปล (Model of the Translation Process )
สิ่งที่จะนำไปสู่งานแปลที่ดีนั้นคือการทำความรู้จักและทำความเข้าใจต่องานแปลนั้นให้ดีในระดับหนึ่งอย่างถี่ถ้วนก่อน ซึ่งงานแปลนั้นอาจจะอยู่ในยุคที่แตกต่างกัน ซึ่งงานแปลในยุคโบราณเป็นการแปลทางศาสนา เช่น คัมภีร์ต่างๆ และการแปลวรรณกรรมด้วยภาษาที่สละสลวยงาม ดังเช่น งานแปลของเชคสเปียร์ จะเห็นได้ว่างานแปลในยุคโบราณนั้น เป็นงานของชนชั้นสูงและเป็นผลงานของผู้ที่มีความสามารถพิเศษ ในยุคต่อมาจึงมีความต้องการงานแปลในด้านต่างๆมากขึ้นทั้งการค้า และการติดต่อต่างๆ ทำให้มีการคิดค้นวิธีการที่จะทำงานแปลที่มีคุณภาพ ได้แก่ 2 รูปแบบคือ รูปแบบของ Roger T. Bell และรูปแบบของ Daniel Gile
รูปแบบแรกคือ รูปแบบกระบวนการแปลของ Roger T. Bell เป็นการสร้างแผนผังกระบวนการที่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนภาษาต้นฉบับเป็นภาษาฉบับแปล  อันเป็นกระบวนการแปลที่เกิดภายในระบบความคิด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลักๆคือ 1. Analysis การวิเคราะห์ภาษาต้นฉบับ ออกมาเป็นความหมายที่ยังไม่เป็นภาษา รูปแบบดังกล่าว มีแนวคิดพื้นฐานว่าการแปลเป็นกระบวนการข่าวสารของมนุษย์  ซึ่งเกิดอยู่ในความจำระยะสั้นและระยะยาว  เป็นเครื่องมือในการถอดความหมายของภาษาต้นฉบับและใส่ความหมายเป็นภาษาฉบับแปล และ2. Synthesis การสังเคราะห์ความหมายเป็นภาษาต้นฉบับแปล
รูปแบบนี้แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนคือ การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ และในแต่ละขั้นตอนมีการดำเนินการสามแบบ คือ Syntactic semantic และ pragmatic ในการวิเคราะห์นั้นผู้แปลจะต้องวิเคราะห์โครงสร้างคือการอ่านต้นฉบับในระดับอนุประโยค แล้ววิเคราะห์แยกออกเป็นโครงสร้าง โดยใช้ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างภาษาที่เก็บไว้ในคลังความจำของแต่ละคน แล้วจึงวิเคราะห์เนื้อหา ให้กับโครงสร้างที่ได้มาจากขั้น syntactic analysis ในขั้นนี้จะวิเคราะห์อนุประโยคว่าเกี่ยวกับอะไร แล้ววิเคราะห์ภาษา เมื่อผ่านขั้นตอนทั้งสามแล้ว จะได้semantic representation ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอนุประโยคที่นำมาวิเคราะห์แล้วจึงนำไปสังเคราะห์ พร้อมด้วยการตัดสินเพื่อนำไปสู่การแปลความหมาย
รูปแบบที่สองคือ รูปแบบกระบวนการแปลของ Daniel Gile เป็นรูปแบบที่อธิบายกระบวนการในการดำเนินการเปลี่ยนภาษาต้นฉบับเป็นภาษาฉบับแปล ซึ่งในขั้นแรกต้องอ่านต้นฉบับทีละ TU ซึ่งหมายถึงการแบ่งข้อความที่อ่านออกเป็นหน่วยเดี่ยว เพื่อจะดำเนินการ ซึ่งอาจเป็นเพียงคำคำเดียว ในขั้นนี้ Gile เน้นว่าหากนักแปลมีความเข้าใจต้นฉบับเพียงความหมายของคำหรือโครงสร้างภาษาเท่านั้น ย่อมไม่สามารถสร้างงานแปลที่ดีได้ วิธีเดียวที่จะทำให้นักแปลมั่นใจว่าเข้าใจได้ดีที่สุด คือการวิเคราะห์ต้นฉบับอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน
ดังนั้นทั้งรูปแบบกระบวนการแปลของ Roger T. Bell และรูปแบบกระบวนการแปลของ Daniel Gile ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการแปลได้เป็นอย่างดี ซึ่งรูปแบบดังกล่าวสามารถเป็นแนวทางและตัวอย่างเพื่อนำไปฝึกฝน และประยุกต์ในงานต่อไปได้ สำหรับการเรียนในเนื้อหาดังกล่าว สามารถนำไปฝึกในการทำงานกลุ่ม สู่งานคู่ และงานเดี่ยว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้ศึกษาอย่างแน่นอน จึงสามารถสะท้อนผลให้เห็นได้อย่างชัดเจน ถ้าหากผู้เรียนยังไม่เข้าใจในกระบวนการ สิ่งหนึ่งที่จะสามารถทำได้ คือการฝึกฝนในชิ้นงานบ่อยๆ ซึ่งทำให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น



ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ

ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ
การเขียนบทแปลที่ดีต้องเขียนด้วยภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงภาษาเขียน ภาษาพูดที่คนไทยทั่วไปใช้กันจริงในสังคมไทย สามารถอ่านบทแปลนั้นได้อย่างถูกต้อง มีความกระชับในเนื้อหา น่าสนใจน่าอ่าน น่าติดตามไปจนจบเนื้อหา  ทั้งนี้เพื่อให้คนไทย หรือผู้อ่านผู้ใช้งานสามารถเข้าใจได้ทันทีไม่มีอุปสรรคในการรับสารที่สื่อจากบทแปล ไม่ให้บทแปลเกิดความพลิกแพลง หรือเนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปจากเนื้อหาต้นฉบับ จึงควรเรียนรู้องค์ประกอบที่นักแปลต้องพิจารณาในการเขียนบทแปลด้วยภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ ได้แก่องค์ประกอบย่อยของการแปล คือ คำ ความหมาย การสร้างคำ และสำนวนโวหาร
คำและความหมาย คำบาคำมีความหมายแตกต่างกันหลายอย่างมีทั้งความหมายตรงและความหมายแฝง หรือความหมายเชิงเปรียบเทียบ เช่น คำว่าเบี้ยว มีความหมายตรงว่าลักษณะของสิ่งที่กลมแต่ไม่กลม บิด ไม่ตรง แต่ในความหมายแฝง กลับแปลว่าไม่ซื่อสัตย์ ทรยศ หักหลังเชื่อถือไม่ได้ คำบางคำมีความหมายต่างกันไปตามยุคสมัย เช่นในสมัยก่อนๆมีความหมายอย่างหนึ่ง แต่ในปัจจุบันแตกต่างไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง บางครั้งก็มีความหมายไปในทางที่ดี บางครั้งก็มีความหมายไปในทางที่เลวลง เช่น กู เดิมเป็นคำสามัญที่ใช้พูดจากันทั่วๆไป ปัจจุบันเป็นคำหยาบคาย มีความหมายเลวลง อาจจะใช้ได้ในกลุ่มเพื่อนสนิทเท่านั้น
การสร้างคำกริยา ในที่นี้จะกล่าวถึง การเสริมท้ายคำกริยาด้วยคำกริยา ซึ่งบางคนอาจจะเห็นว่าทำให้ภาษายุ่งยาก อย่างไรก็ตามบางครั้งก็๙ดเจนขึ้น ถ้าเราเข้าใจความหมายที่แท้จริงดั้งเดิมของมัน คำกริยาที่เสริมท้ายนั้น ได้แก่  ขึ้น ลง ไป มา โดยไม่มีความหมายเดิมเหลืออยู่เลย แต่กลายเป็นคำบอปริมาณ และทิศทาง เช่น ทำขึ้น บอกประมาณว่ามาก ชัดเจน ช้าลง บอกปริมาณว่ามีเพียงเล็กน้อย โดยมีความหมายเปรียบเทียบเช่นเดียวกัน กับ แก่ลง เสื่อมลง และคำว่าจากไป บอกทิศทางว่าห่างไกลออกไป เช่นเดียวกับเราพูดว่า พูดไป คิดไป ทำไป เลิกไป ร่วงไป โรยไป
การเข้าคู่คำ คือการนำคำหลายคำมาเข้าคู่กันเพื่อให้ได้คำใหม่โดยมีความหมายใหม่หรือมีความหมายคงเดิม เช่น คู่คำพ้องความหมาย จะเป็นคำในภาษาเดียวกัน หรือคำต่างประเทศ หรือคำภาษาถิ่นก็ได้ ส่วนมากความหมายจะคงเดิม เช่น เสื่อสาด หมายความว่า เครื่องปูลาด ทรัพย์สิน หมายความว่า ร่ำรวย และข้าวปลาอาหาร หมายความอาหาร คู่คำที่มีความหมายตรงข้าม ส่วนมากได้ความหมายใหม่ เช่น ข้อเท็จจริง เท็จ ตรงข้ามกับจริง หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้น สำหรับคู่คำที่มีความหมายต่างกัน มักจะมีความหมายเดิมเหลืออยู่
สำนวนโวหาร ในการแปลขั้นสูง ผู้แปลต้องรู้จักสำนวนการเขียน และการใช้โวหารหลายๆแบบ มิฉะนั้นจะทำให้เข้าใจความหมายไม่ชัดเจน บางครั้งอาจเข้าใจผิดเป็นตรงกันข้ามก็ได้ การอ่านมากจะทำให้คุ้นเคยกับสำนวนโวหารแบบต่างๆ ในวรรณกรรมชั้นดีผู้เขียนมักจะใช้สำนวนโวหารแปลกๆ ซับซ้อนเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความบันเทิงแต่ถ้าผู้อ่านไม่เข้าใจก็จะได้ผลตรงข้ามกัน ก่อนจะกล่าวถึงสำนวนแปลกๆ และซับซ้อน ที่มักจะถูกละเลย และหลงลืม เช่น จนกระทั่ง กับ แก่ เพื่อที่จะให้เป็นส่วนหนึ่งของวลีที่ทำหน้าที่ขยายกริยา ซึ่งจะวางหน้าคำคุณศัพท์
สำนวนที่มีคำซ้ำในที่นี้หมายถึงทั้งคำเดียวกันซ้ำกัน และคำที่มีความหมายเหมือนกัน การใช้คำซ้ำ มีทั้งดีและเสียปนกันประดุจดาบสองคม ถ้าผู้เขียนไม่ระมัดระวัง กลายเป็นเสียไปได้ ในส่วนที่ดีของคำซ้ำคือเพื่อความไพเราะ  เพื่อให้มีความหมายอ่อนลง ให้ได้คำใหม่ๆใช้ และเพื่อแสดงว่ามีจำนวนมาก ปริมาณมาก หรือเป็นพหูพจน์ สำหรับสำนวนที่มีคำแทรกเป็นลักษณะของสำนวนไทยที่อ่อนโยน ทำให้คำที่สั้นห้วนนั้นสลวยขึ้น เช่น ติดใจ คือ ติดเนื้อต้องใจ หรือใจกว้างคือ ใจคอกว้างขวาง
โวหารภาพพจน์ โวหารที่นักแปลจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพราะนักเขียนหรือกวีมักจะสร้างภาพพจน์อย่างกว้างขวางสลับซับซ้อน ถ้าผู้อ่านมีประสบการณ์น้อยก็จะขึ้นไม่ถึงตามไม่ทัน และไม่เข้าใจจนบางครั้งกวีสร้างภาพพจน์ถึงสิ่งที่ในปัจจุบันไม่มีอีกแล้ว นักอ่านบางคนไม่รู้จักก็คิดว่ากวีบิดเบือนความจริงเพื่อป้องกันการไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ ผู้อ่านควรวางใจเป็นกลางและศึกษาแนวคิดในการใช้โวหารภาพพจน์ ซึ่งผู้เขียนทุกชาติใช้ร่วมกันนั่นคือ โวหารอุปมา ซึ่งเป็นการสร้างภาพพจน์ด้วยเปรียบเทียบ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อชี้แจง อธิบาย พูดพาดพิงถึง หรือเสริมให้งดงามขึ้น
สำหรับโวหารอุปลักษณ์คือ การเปรียบเทียบความหมายโดยนำความเหมือนและไม่เหมือนของสิ่งนั้นมาเปรียบเทียบมากล่าว การเปรียบเทียบแบบที่นำไปสู่คำใหม่ๆที่น่าตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจ โวหารเย้ยหยันคือการใช้คำด้วยอารมณ์ขัน เพื่อยั่วล้อ โวหารขัดแย้งเป็นการใช้คำที่มีความหมายตรงข้ามกัน โวหารที่ใช้ส่วนหนึ่งแทนทั้งหมด ได้แก่การนำคุณสมบัติเด่นๆมาใช้เอ่ยนามนั้นออกมา โวหารบุคลาธิษฐาน คือการนำสิ่งต่างๆที่ไม่มีชีวิต รวมทั้งความคิด ความกระทำ มากล่าวเหมือนบุคคล และโวหารกล่าวเกินจริง ซึ่งเน้นให้เห็นความสำคัญ ชี้ให้ชัดเจนและเด่น และใช้เพื่อแสดงอารมณ์ที่รุนแรง ไม่ใช่อธิบายข้อเท็จจริง
ดังนั้นการเขียนบทแปลที่ดีต้องเขียนด้วยภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ โดยต้องมีการคำนึงถึงส่วนต่างๆ อาทิ การใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ไม่เกิดความกำกวม มีความแม่นยำ ไม่ทำให้ไขว้เขว ใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย มีชีวิตชีวา เร้าใจ ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกอยากอ่านต่อจนจบ และยังมีความสมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ มีเหตุผลรอบคอบไม่มีอคติ ไม่สร้างความหลงผิดให้แก่ผู้อ่าน มีการใช้ภาษาที่คมคายเฉียบแหลม หนักแน่น แฝงไปด้วยข้อคิดดี โดยใช้ถ้อยคำไม่กี่คำ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการแปลเนื้อความนั้นยังคงรักษาความหมายเดิมในต้นฉบับ


The Passive

The Passive
ประโยค (Sentence) คือข้อความที่เอ่ยมาแล้วเข้าใจได้กระจ่างชัดว่า ประธาน แสดง กริยา อะไร เมื่อใด ถ้ากริยานั้นต้องมีกรรม (Transitive Verb) ก็ต้องมีกรรมระบุในประโยคด้วย เช่นเขา เดิน เขา เป็นประธาน (Subject) เดิน เป็นกริยาไม่ต้องการกรรม (Intransitive Verb) เป็นอดีตกาล (Past tense)    เรา กิน มันฝรั่งเรา เป็นประธาน (Subject) กิน เป็นกริยาต้องมีกรรม (Transitive Verb) เป็นปัจจุบันกาล (Present Tense) ทั้ง 2 ประโยคข้างต้นนี้ มีประธานเป็นผู้กระทำทั้งสิ้น (แต่จะอยู่ในรูป tense อย่างใด ก็สุดแท้แต่เวลาที่ต้องการบ่งชี้) เราเรียกโครงสร้างของประโยคชนิดนี้ว่า กรรตุวาจก (Active Voice) 
เมื่อใช้ประโยคว่ามะม่วง ถูกกิน ประธานของประโยคคือ Apples ไม่ได้ทำกริยา กิน แต่ในทางตรงกันข้าม ประธานกลับเป็นฝ่ายถูกกระทำ จดหมาย ถูกอ่าน เมื่อวานนี้ จดหมาย เป็นประธาน (Subject) ถูกอ่าน เป็นกริยา (Past Tense) ในทำนองเดียวกันกับประโยคแรก จดหมายซึ่งเป็นประธานของประโยคไม่ได้ เป็นผู้อ่าน แต่กลับเป็นสิ่งที่ถูกอ่านโดยประธาน ทั้ง 2 ประโยคหลังนี้ มีประธานเป็นผู้ถูกกระทำ โครงสร้างเช่นนี้เรียกว่า กรรมวาจก (Passive Voice)
ประโยค Passive voice คือประโยคที่ประธานเป็นผู้ถูกกระทำ หรือประโยคที่อยู่ในรูป Subject + Verb to be + Verb 3 (Past Participle) ซึ่งส่วนมากจะถูกเปลี่ยนจากประโยค Active voice (ประโยคที่อยู่ในรูป Subject + Verb1) แต่ก็ไม่ใช่แค่เอามาสลับที่กันเฉยๆนะครับ ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีเงื่อนไขเสมอ วิธีการแปลประโยค passive ให้เป็นภาษาไทย สำหรับโครงสร้างแบบ Passive Voice จะแปลว่า ถูกกระทำ เป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งแปลว่า ได้รับการกระทำนั้น ดูจะเหมาะกว่า เช่น He was punished by his teacher a few days ago. เขาถูกลงโทษ โดยครูของเขาเมื่อ 2 - 3 วันก่อน หรือประโยค The articles were read by most students. บทความถูกอ่าน โดยนักเรียนส่วนใหญ่

หากเรารู้จักรูปแบบประโยคดีแล้ว นั่นคือเรารู้ว่าตัวไหนเป็นประธาน ตัวไหนเป็นกริยา และตัวไหนเป็นกรรม เอามารวมกับความรู้เรื่อง tense และกริยาสามช่องที่เคยเรียนในชั้นปีที่ 1 และ2 ในรายวิชาไวยากรณ์  ผมคิดว่าเรื่อง Passive voice ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แต่ถ้าหากบางคนยังคิดว่ายาก ก็เพียงแค่ฝึกฝน อดทน และพยายาม อย่างไรก็ดีคำว่า ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่นก็ยังใช้ได้เสมอ เพราะการฝึกฝนบ่อยๆจะทำให้เรารู้สึกคุ้นชินกับคำศัพท์และสามารถแปลประโยคได้อย่างง่ายดาย และถูกต้องตามหลัก

หลักการแปลวรรณกรรม

หลักการแปลวรรณกรรม
                ในการแปลวรรณกรรมนั้น สิ่งแรกนักศึกษาต้องเข้าใจในความหมายของงานประเภทวรรณกรรมก่อน นั้นหมายความว่า วรรณกรรมคือ หนังสือที่แต่งขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ไม่ว่าจะใช้วิธีร้อยแก้วหรือร้อยกรอง ไม่ว่าจะเป็นผลงานของกวีโบราณหรือปัจจุบัน ซึ่งคงจะรวมถึงสิ่งที่เราเรียกว่า วรรณคดี ด้วย ตามปกติวรรณกรรมเป็นงานเขียนที่จัดไว้ในประเภท บันเทิงคดี ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ผู้อ่านหวังที่จะได้รับความบันเทิงเพลิดเพลินเป็นใหญ่ ส่วนที่จะค้นหาความรู้ ข้อมูลต่างๆนั้นเป็นจุดประสงค์รองลงมา สิ่งสำคัญที่สุดในการแปลวรรณกรรมคือการรักษาความหมายเดิมไว้ให้ครบสมบูรณ์ ถูกต้อง ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากต้นฉบับ  งานแปลดังกล่าว อาทิเช่น งานแปลนวนิยาย เรื่องสั้น นิทาน นิยาย บทละคร การ์ตูน บทภาพยนตร์ บทเพลง
                หลักการแปลนวนิยาย นวนิยายเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่าแพร่หลายในทุกๆประเทศและทุกกาลสมัย ผู้แปลมีความสำคัญเกือบจะเท่ากับผู้แต่ง ในบางครั้งมีความสำคัญยิ่งกว่าผู้แต่ง งานแปลนวนิยายและหนังสือประเภทวรรณคดี มักมีชื่อเสียงมาสู้ผู้แปล จึงทำให้งานแปลมีคุณค่าและมีความสำคัญ  เห็นคุณค่าของวรรณกรรมอยู่ที่ศิลปะในการใช้ภาษาของผู้แปลที่สามารถค้นหา  ถ้อยคำ ค้นหาสำนวน สละสลวยไพเราะสอดคล้องกับต้นฉบับได้เป็นอย่างดี โดยเริ่มจากการแปลชื่อเรื่องของวรรณกรรมเพราะมีความสำคัญเป็นอันดับแรก ต่อมาเป็นการแปลบทสนทนา เป็นปัญหาที่ยุ่งยากของการแปลนี้เพราะใช้ถ้อยคำโต้ตอบภาษาพูดที่ต่างระดับกัน
                หลักการแปลบทบรรยาย เป็นข้อความที่เขียนเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ซึ่ง มักจะใช้ภาษาเขียนที่ขัดเกลาและแตกต่างกันหลายระดับ ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการแปลเพื่อให้สอดคล้องกับต้นฉบับเดิม อย่างไรก็ตามถ้าวิเคราะห์การใช้ภาษาในบทบรรยายแล้ว จะพบว่าความยุ่งยากเกิดจากภาษาสองประเภทคือ ภาษาในสังคมและ ภาษาวรรณคดี ซึ่งภาษาสังคมคือการที่มนุษย์ในแต่ละสังคมนั้นจะต้องผ่านการฝึกฝนมาแล้วจนเกิดความเคยชินภาษาของแต่ละสังคมบางครั้งอาจจะดูคล้ายกันและในสังคมนั้นก็มักมีอิทธิพลในภาษาพูด และภาษาวรรณคดี เป็นภาษาที่ใช้เขียนในวรรณกรรมประเภทต่างๆซึ่งต้องการความไพเราะ สละสลวย เป็นภาษาที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักไวยากรณ์
หลักการแปลบทละคร บทละครคือวรรณกรรมการแสดง ถ้าไม่มีดนตรีหรือบทร้อยกรองประกอบ หรือที่เรียกว่าละครพูด ถ้ามีดนตรีหรือบทร้องเป็นส่วนสำคัญเรียกว่าละครร้อง ละครรำ ละครไทยอเช่นละครชาตรี วิธีการแปลบทละคร ดำเนินการแปลเช่นเดียวกับการแปลเรื่องสั้น นวนิยาย นิทาน นิยาย คือเริ่มด้วยการอ่านต้นฉบับเพื่อทำความเข้าใจให้ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบก่อน หาความหมายและคำแปลแล้วจึงเขียนบทแปลด้วยภาษาที่เหมาะสม และการฝึกอ่านต้นฉบับหลายๆรอบเพื่อทำความเข้าใจในเนื้อเรื่อง
หลักการแปลบทภาพยนตร์ เมื่อจะนำมาแปลจะถ่ายทอดเป็นบทเขียนก่อน โดยมีจุดประสงค์หลักคือ การนำบทแปลไปพากย์ หรืออัดเสียงในฟิล์มผู้ฟังจะได้ยินเสยงพูดภาษาไทย และการนำบทแปลไปเขียนคำบรรยายในฟิล์มดั้งเดิมซึ่งผู้ฟังจะได้ยินเสียงเดิมของนักแสดง และมีคำแปลควบคู่ไปด้วยพร้อมๆกัน บทภาพยนตร์ มีลักษณะเหมือนบทละคร คือประกอบไปด้วยคำสนทนาเป็นส่วนใหญ่ แต่มีผู้แสดงที่หลากหลายกว่า แต่ละคนจะแสดงบทบาทการใช้คำพูดตามนิสัย และเน้นย้ำให้ชัดเจน บทแปลดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการแสดง และพูดตามเปลี่ยนฉากที่รวดเร็ว หลักการแปลนิทาน นิยาย เป็นสิ่งที่มีมาแต่โบราณสมัยที่ยังไม่ใช้ตัวอักษรสื่อสารกัน คนโบราณสื่อกันด้วยการบอกเล่า และเรื่องเล่าจึงเป็นการเล่าเรื่องด้วยปากด้วยวาจา สืบเนื่องกันมายาวนาน ซึ่งให้ทั้งความรู้และความสนุก
หลักการแปลนิทาน บันเทิงคดีประเภทนิทาน เรื่องเล่า เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่โบราณ สมัยที่ยังไม่มีตัวอักษรในการสื่อสาร คนโบราณจึงมักจะสื่อกันด้วยการเล่าด้วยปาก ด้วยวาจา  ในการแปลเรื่องเล่าโดยเริ่มจากการอ่านต้นฉบับนิทาน อ่านครั้งแรกอย่างรวดเร็วเพื่อทำความเข้าใจเนื้อเรื่อง แล้วตรวจสอบความเข้าใจเนื้อเรื่อง  และการเขียนบทแปลโดยการใช้วิธีเขียนแบบเก่าและหลักการแปลเรื่องเล่าสั้นๆ ซึ่งจะแฝงอารมณ์ขัน มักจะมีการใช้ถ้อยคำจำกัดความ มีความกะทัดรัด ถ้ามีความกำกวมก็เป็นเพราะผู้เขียนจูง เรื่องเล่ามักจะประกอบด้วยตัวละครจำนวนราวประมาณ 1-2 ตัว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะระชั้นชิดแบบรวดเดียวจบ เพื่อให้กระชับความในตอนจบ มักจะเป็นปมอารมณ์ขันที่เป็นจุดเด่นของเรื่อง
หลักการแปลกวีนิพนธ์ เป็นวรรณกรรมที่เป็นบทร้อยกรอง มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัวด้วยการจำกัดจำนวนคำ จำนวนพยางค์ และจำนวนบรรทัด ทั้งเสียงหนักเบา การสัมผัสและจังหวะ ไทยเราเรียกข้อบังคับของกวีนิพนธ์ว่าฉันทลักษณ์ ใช้เป็นแนวทางแต่งโคลงฉันท์ กาพย์ กลอนโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเล่าเรื่อง ให้ความบันเทิงเพลิดเพลิน เพื่อให้เนื้อหาสาระและความไพเราะของภาษา  นอกจากจะแปลเนื้อหาสาระแล้วยังรักษาวิธีนำเสนอที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับที่สุดโดยมีการยึดฉันทลักษณ์เป็นหลัก มุ่งแสดงความรู้สึกนึกคิดมากกว่าเล่าเรื่อง ดังนั้นจึงต้องแปลให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายทั้งสาระและความไพเราะของภาษา

            นอกจากสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้ว สิ่งหนึ่งที่นักแปลจะต้องระวังอยู่เสมอคือต้องคำนึงถึง ลีลาของนักเขียนคนนั้นๆ ถ้าเราเอาเรื่องนักสืบที่มีการผจญภัยน่า ตื่นเต้นมาแปลด้วยสไตล์อ่อนหวานเรียบร้อยซึ่งเป็นสไตล์การเขียนของเราเอง หรือเอาเรื่องรักหวานจ๋อยลีลาเหยาะน้ำผึ้งมาแปลด้วยสำนวนห้าวหาญ ราวกับกำลัง แปลเรื่องบู๊ ก่อนจะลงมือแปล จึงควรอ่านต้นฉบับหลายๆ เที่ยวจนรู้สึกอินกับเรื่องและลีลาของนักเขียนผู้นั้นเสียก่อนจึงค่อยลงมือแปล นักแปลที่ดีจะต้องหมั่นสังเกตความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมของภาษาทั้งสองที่กำลังถ่ายทอดอยู่นั้นให้ดี มิฉะนั้นงานแปลอาจไม่สมบูรณ์ และไม่แปลผิด แปลขาด หรือแปลเกิน 

Text types

Text types
รูปแบบการเขียน หมายถึง วิธีการเรียบเรียงเนื้อหาในการเขียน การถ่ายทอดความรู้ ความรู้สึกนึกคิด เรื่องราว ตลอดจนประสบการณ์ต่างๆไปสู้ผู้อื่นโดยใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด ซึ่งมีโครงสร้างที่เป็นแบบแผน มีคุณลักษณะและมีองค์ประกอบหลักที่ใช้การเขียนสำหรับรูปแบบนั้นๆ ซึ่งรูปแบบการเขียนมีหลายรูปแบบ แตกต่างกันไปตามจุดประสงค์ของงาน การเขียนเป็นวิธีการสื่อสารที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ความคิด และประสบการณ์ นอกจากนั้นการเขียนยังมีคุณค่าในการบันทึกเป็นข้อมูลหลักฐานให้ศึกษาได้ยาวนานวิธีการเขียนแบบต่างๆไว้ว่า เป็นงานเขียนสั้นๆที่อภิปราย บรรยายหรือวิเคราะห์สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือรายงานข้อมูล ทั้งในลักษณะโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือในลักษณะต้องใช้ความคิดอย่างหนักหรือแบบเบาสมอง ส่วนใหญ่จะเขียนในนามของสรรพนามบุรุษที่หนึ่งหรือสาม รูปแบบการเขียนที่ใช้กันมาก ได้แก่
                แบบบรรยาย (Descriptive) เป็นแบบที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างว่า ดูเป็นอย่างไร สัมผัสอย่างไร รสเป็นอย่างไร กลิ่นเป็นอย่างไร เพื่อให้ความรู้สึกแก่ผู้อ่าน โดยทั่วไป จึงใช้รายละเอียดของประสาทสัมผัส ข้อเขียนอาจเป็นการบรรยายเป็นรายการ คือให้รายละเอียดจุดต่อจุด หรือบรรยายเป็นเรื่องราว เพื่อให้ผู้อ่านสนใจเค้าโครงเรื่องและแก่นของเรื่องที่บรรยาย เช่น บรรยายถึงต้นไม้ในสวนหลังบ้านของฉัน การไปเยี่ยมผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาล หรือนักกีฬาทำอย่างไรเพื่อไปสู่โอลิมปิก
                แบบให้นิยาม (Definition) เป็นข้อเขียนที่พยายามให้นิยามคำเฉพาะหรือให้มโนทัศน์ ที่เป็นนามธรรม ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ลึกไปกว่าความหมายในพจนานุกรม อาจต้องอธิบายถึงเหตุผลว่า ทำไมคำนั้นจึงนิยามอย่างนั้น การเขียนอาจเป็นการนิยามโดยตรง หรือเขียนเป็นเรื่องราวที่แฝงนัยให้ผู้อ่านอนุมานความหมายเอง เช่น ความหมายของความรัก ความหมายที่แท้จริงและความสำคัญของความซื่อสัตย์ ความหมายของครอบครัวที่ลึกไปกว่าความสัมพันธ์ทางสายเลือด
                แบบเปรียบเทียบความเหมือนหรือความต่าง (Compare/Contrast) เป็นข้อเขียน                 ที่อภิปรายถึงความคล้ายคลึงและความแตกต่างของสิ่งสองสิ่งหรือบุคคล ความคิด สถานที่ ฯลฯ อาจเป็นข้อเขียนที่อภิปรายอย่างไม่ลำเอียง หรือจูงใจให้ผู้อ่านเห็นประโยชน์ของฝ่ายหนึ่ง อาจเป็นข้อเขียนง่ายๆที่ทำให้ผู้อ่านสนุกสนาน หรือลงลึกให้หยั่งรู้ถึงธรรมชาติของมนุษย์ ข้อเขียนอาจอภิปรายทั้งความคล้ายคลึงและความแตกต่าง หรืออาจอภิปรายเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ความคล้ายคลึง และความแตกต่างระหว่างเมืองสองเมือง หรือระหว่างบุคคลสองคน
                แบบเหตุและผล (Cause/Effect) เป็นการอธิบายว่า เหตุใดเหตุการณ์หนึ่งจึงเกิดขึ้นและเกิดขึ้นอย่างไร มีผลอะไรเกิดขึ้นจากประสบการณ์นั้น เรียงความนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์หรือประสบการณ์ตั้งแต่สองอย่างขึ้นไป ข้อเขียนอาจอภิปรายทั้ง เหตุและ ผลเช่น ทำไมภูเขาไฟจึงระเบิด และอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น แบบเล่าเรื่อง (Narrative) ข้อเขียนจะเป็นเรื่องเล่าหรือเรื่องสั้น เป็นการเล่าถึงประสบการณ์ส่วนบุคคล มักเขียนในรูปสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง อาจเล่าถึงรูปแบบชีวิตของคนๆหนึ่ง หรือประสบการณ์ประจำวันโดยทั่วไป เช่น น้องชายพาฉันกับตาไปตกปลา ประสบการณ์เฉียดตายของข้าพเจ้าที่ชายทะเล เป็นต้น
แบบอธิบายกระบวนการ (Process) เป็นการอธิบายถึงการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าทำอย่างไร โดยทั่วไปอธิบายการกระทำที่แสดงออกมาตามลำดับ รูปแบบการเขียนจะเป็นคำและทำเป็นขั้นตอน หรืออาจเขียนในรูปแบบการเล่าเรื่อง พร้อมกับคำแนะนำหรือคำอธิบายเป็นช่วงๆไปโดยตลอด แบบอภิปรายให้เหตุผล (Arguementative) เป็นข้อเขียนที่พยายามโน้มน้าวผู้อ่านให้เห็นด้วยกับความเห็นของผู้เขียน อาจเขียนแบบให้คิดอย่างจริงจังหรือแบบสนุกสนาน แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อความเห็นของผู้เขียน อาจเขียนอย่างตรงไปตรงมา หรือค่อยๆโน้มน้าวโดยอาศัย การใช้คำ เช่น เราควรใช้การขนส่งสาธารณะแทนการขับรถ หมาย่อมดีกว่าแมว เป็นต้น
แบบวิเคราะห์วิจารณ์ (Critical) เป็นข้อเขียนที่วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน และวิธีการ ที่บุคคลใช้ทำงาน โดยเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงจุดสำคัญอย่างสั้นของเนื้อหาในหนังสือ ภาพยนตร์หรืองานศิลปะ จากนั้นอภิปรายข้อดีที่ผู้เขียนหรือผู้สร้างสรรค์งานบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างไร แล้วให้ความเห็น เช่น จุดแข็งจุดอ่อนของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้แต่งเสนอตัวละครเอกอย่างไร เป็นต้น และการเขียนอธิบาย (Expository writing) เป็นรูปแบบการเขียนที่ให้ข้อเท็จจริง ไม่ได้อาศัยโครงเรื่องและตัวละครเหมือนการเขียนเล่าเรื่อง ซึ่งจะพบข้อเขียนแบบนี้ได้บ่อยในเรื่องข่าว บทความ และรายงานสารสนเทศในลักษณะการเขียนอธิบาย ประกอบด้วยใจความสำคัญและรายละเอียด  ที่สนับสนุน ได้แก่ ข้อเท็จจริงหรือการอ้างอิงคำพูด การเขียนประกอบด้วยตอน 3 ตอน คล้ายกัน คือ ตอนนำ ตอนเนื้อเรือง และตอนสรุปที่สนับสนุนใจความสำคัญของเรื่อง
การเขียนเล่าเรื่อง (Narrative writing) เป็นรูปแบบการเขียนที่เล่าถึงเรื่องราวต่างๆอาจเป็นบันเทิงคดี  เช่น เทพนิยาย เรื่องสั้น นวนิยาย หรืออาจเป็นสารคดี เช่น ชีวประวัติ อัตชีวประวัติ เป็นต้น รูปแบบการเขียนแบบนี้ประกอบด้วย  ตอนเริ่ม ได้แก่การกำหนดตัวละครและตอนนำตามโครงเรื่อง) ตอนกลาง (ตอนต่อตามโครงเรื่องและจุดตื่นเต้นเร้าใจของเรื่อง) และตอนจบ การลงสรุปหรือการแก้ปัญหาในเรื่องได้สำเร็จ การเขียนแบบเล่าเรื่อง อย่างน้อยต้องมีตัวละครหนึ่งตัว เป็นบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของที่สมมุติเป็นตัวตนได้ และปัญหา ข้อขัดแย้ง ที่ต้องการแก้ไข

                นอกจากนี้แล้วยังมีผู้แบ่งรูปแบบการเขียนตามจุดประสงค์เฉพาะในลักษณะอื่นๆ โดยมีข้อแนะนำในการเขียนแต่ละรูปแบบอยู่ด้วย แต่มีความแตกต่างกัน การเขียนตามรูปแบบการเขียนที่หลากหลายมีลักษณะแตกต่างกันไปเช่นกัน นักวิชาการต่างๆให้ข้อแนะนำในการเขียนไว้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่จะเขียน ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนได้อีกทางหนึ่งด้วย เพื่อปูพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ในระดับมัธยมศึกษาจนถึงวัยผู้ใหญ่ ไม่ว่างานเขียนรูปแบบใด แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือการสามารถแปลความหมายงานแปลนั้นให้ได้มีอัธรส น่าสนใจ เนื้อหาไม่เปลี่ยนแปลงไปจากต้นฉบับ

การถ่ายทอดตัวอักษร

การถ่ายทอดตัวอักษร
ถ้าพูดถึงการถ่ายทอดตัวอักษร ในที่นี้การถ่ายทอดตัวอักษรหมายถึง การนำคำในภาษาหนึ่งมาเขียนด้วยตัวอักษรของอีกภาษาหนึ่งโดยพยายามให้การเขียนในภาษาใหม่นี้ถ่ายทอดเสียง ของคำในภาษาเดิมให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ การถ่ายทอดตัวอักษรมีบทบาทในการแปลจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง ในกรณีเมื่อในภาษาต้นฉบับมีคำที่ใช้แทนชื่อเฉพาะของสิ่งต่างๆ เช่น ชื่อคน ชื่อสถานที่ ชื่อ แม่น้ำ ภูเขา หรือแม้แต่ชื่อสถาบันการศึกษาต่างๆ หรือเมื่อคำในภาษาต้นฉบับมีความหมายอ้างอิงถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมที่ไม่มีในสังคมของภาษาฉบับแปลจึงไม่มีคำเทียบเคียงให้ เช่น คำที่ใช้เรียกต้นไม้ สัตว์ และกิจกรรมบางชนิด ความคิดบางประเภทซึ่งมีในภาษาอังกฤษแต่ไม่มีในภาษาไทยเนื่องจากยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ขึ้น
ในกรณีดังกล่าวข้างต้น ผู้แปลอาจแก้ปัญหาได้สองประการคือ การใช้วิธีให้คำนิยามหรือคำบรรยาย อธิบายที่บอกลักษณะตรงกับคำเดิมนั้น หรือการใช้ทับศัพท์ ตัวอย่างเช่น  football ซึ่งเมื่อจะถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอาจทำได้โดยให้คำนิยามว่า  เป็นลูกกลมๆทำด้วยหนัง หรือใช้ทับศัพท์ว่าฟุตบอล หรือคำว่า supermarket ซึ่งอาจหมายความว่า ร้านซึ่งขายทั้งของกินของใช้ประจำครัวเรือน หรือใช้คำเดิมว่า ซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยทั่วๆ ไปเรามักจะนิยมใช้คำเดิม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเขียนคำนั้นในฉบับแปลด้วยตัวอักษรของภาษาต้นฉบับ ให้อ่านคำนั้นเพื่อให้รู้ว่าคำนั้นออกเสียงอย่างไร ประกอบด้วยเสียงอะไรบ้าง
ภาษาทุกภาษาจะมีเสียงพยัญชนะและสระตรงกันเป็นส่วนมาก และผู้แปลจะหาตัวอักษรมาเขียนแทได้เลย เช่นการใช้ พ แทนเสียงแรกในคำว่า  Paul เป็นต้น แต่ก็มีเสียงจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มีตัวอักษรที่แทนเสียงตรงกับในต้นฉบับแปล  ในกรณีนี้ให้หาตัวอักษรตัวหนึ่งหรือตัวที่เรียงกันที่มีเสียงใกล้เคียงกันที่สุดมาเขียนแทน เช่น การใช้ ธ แทนเสียงแรกของชื่อ Thomas และ Kh แทน ค เป็นต้น แต่เสียงบางประเภทอาจจะไม่มีใช้ในอีกภาหนึ่ง หรือมีก็เทียบเคียงกันไม่ได้ เช่น เสียงหนักเสียงเบา ในคำภาษาอังกฤษซึ่งไม่มีในภาไทย หรือเสียงวรรณยุกต์ สำหรับการยืมคำศัพท์ใช้ภาษาโดยเขียนลงเป็นภาษาในต้นฉบับแปล
ดังนั้นในการถ่ายทอดตัวอักษร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่เราสามารถเทียบเคียงพยัญชนะ เสียงสระ และวรรณยุกต์ให้ได้ตรงตามหลักการ เพื่อให้การถ่ายทอดอักษรให้ได้ถูกต้อง ทุกวันนี้เราสามารถเห็นป้ายตามท้องถนน หรือป้ายโฆษณามากมายที่ถอดอักษรมาโดยการทับศัพท์บ้าง อย่างไรก็ตามในการฝึกฝนการถอดอักษรสิ่งแรกที่เราควรปฏิบัติคือการฝึกในสิ่งที่อยู่ใกล้ๆตัวเรา ดังเช่น การถอดอักษรจากชื่อตนเอง ชื่อเพื่อนๆ ชื่อสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดัง หรืออาจจะเป็นสถาบันการศึกษา จึงจะสามารถทำให้เราเกิดความคุ้นเคยและสามารถถ่ายทอดอักษรได้อย่างถูกต้อง ตรงตามอักขระ






โครงสร้างพื้นฐานของประโยค

โครงสร้างพื้นฐานของประโยค
ในการศึกษาเนื้อหาโครงสร้างพื้นฐานของประโยค ซึ่งเนื้อหาดังกล่าว ล้วนเป็นเนื้อหาที่มีความสำคัญในการเรียนการสอนเพื่อนำไปสู่งานแปลต่อไป การสร้างประโยคให้ดูกะทัดรัดและถูกต้อง หากนักศึกษาเกิดความไม่เข้าใจในเนื้อหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  หรือไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างรูปแบบของประโยคแต่ละแบบได้  จะก่อให้เกิดผลกระทบต่องานแปล เพราะเราไม่สามารถแยกประโยคแต่ละแบบ เพื่อนำไปสู่งานแปลที่มีความหมายที่ถูกต้องของต้นฉบับ ในการสร้างรูปแบบประโยค ตีความหมายของต้นฉบับ  และวิเคราะห์ความหมายก่อนถ่ายทอดเป็นภาษาฉบับแปลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพื่อให้ประโยคมีความสละสลวย โดยศึกษาจากโครงสร้างแบบของคำกริยาของฮอร์นบีและแบบประโยคพื้นฐานของไนดา
ฮอร์นบีและคณะได้แยกประโยคพื้นฐานไว้ใน  The Advanced Learner’s Dictionary of Current English ไว้ 25 แบบ  โดยถือตามหน้าที่และความนิยมในการใช้คำกริยาเป็นหลัก เรียกว่า แบบของคำกริยา (verb pattern) จะสังเกตเห็นว่าในการเขียนโครงสร้างแต่ละประโยคนั้น จะประกอบด้วยประธาน ตามด้วยกริยา และในส่วนเติมเต็มในแต่ละแบบนั้นจะแตกต่างกันออกไป ในแบบที่หนึ่งและสอง มักจะเจอบ่อย เพราะเป็นประโยคที่มีส่วนเติมเต็มเป็นกรรมตรง(Direct object)
 และแบบที่สองเป็นประโยคที่เติม to ซึ่งต้องตามด้วย กริยาช่องที่ 1 เสมอ (infinitive with to)  ส่วนรูปแบบที่สี่ถึงหก จะมีการเขียนโครงสร้างแต่ละประโยคนั้น จะประกอบด้วยประธาน ตามด้วยกริยา และในส่วนเติมเต็มเป็น คำนามหรือสรรพนาม แต่ในรูปแบบที่เจ็ดจะเป็นการใช้โครงสร้างที่ต่างกันออกไปคือ Object+ verb+ object+ adjective ความแตกต่างที่เด่นชัดคือการใช้รูปแบบของประโยค passive voice คือการนำประโยคที่กล่าวถึงผู้ถูกกระทำ มาทำหน้าที่เป็นประธานในประโยค สำหรับรูปแบบอื่นๆที่ศึกษาเป็นการใช้รูปแบบที่มีความคล้ายคลึงกัน บ้างก็ไม่ซับซ้อนจนเกินไปจึงทำให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาได้เร็วขึ้น

สำหรับแบบประโยคพื้นฐานของไนดา มีทั้งหมด 7 แบบ ในส่วนของแบบที่หนึ่ง จนกระทั่งแบบที่ห้า จะไม่มีความซับซ้อนมากนัก ยังเป็นประโยคพื้นฐานที่เข้าใจง่าย แต่ในส่วนของแบบที่หกและเจ็ด กระผมคิดว่าค่อนข้างมีความยากง่ายที่ต่างไปจากเดิม ทั้งนี้ทั้งนั้นในการศึกษาครั้งนี้ ทำให้กระผมเกิดความเข้าใจในโครงสร้างดังกล่าวได้มากขึ้น สำหรับการแปลภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งนั้น ถ้าผู้แปลมีความสามารถ มีความรู้ดีทั้งสองภาษา การตีความหรือวิเคราะห์ความหมายของประโยคจะทำได้อย่างรวดเร็ว เพียงแต่คิดในใจสำหรับผู้ที่ยังไม่ค่อยชำนาญ การแยกประโยคที่ซับซ้อนเป็นประโยคพื้นฐานจะช่วยได้มาก

การแปลบันเทิงคดี

การแปลบันเทิงคดี
                บันเทิงคดีเป็นเรื่องสมมติที่สร้างขึ้นมาอย่างมีจินตนาการและอารมณ์ มุ่งให้ความเพลิดเพลินเป็นใหญ่ แต่ก็ให้ความรู้ด้วย มีหลายรูปแบบ เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย บทละคร ฯลฯ บันเทิงคดีจึงเป็นงานเขียนที่ผู้เขียนมีเจตนานให้ผู้อ่านได้รับความเพลิดเพลินจากการอ่านโดยมีเกร็ดความรู้ ข้อคิด คติธรรม และประสบการณ์ชีวิตแทรกอยู่ในเรื่องนั้นๆ การเขียนบันเทิงคดีนั้น ผู้เขียนจะต้องมีจินตนาการ มีความสามารถคิดเรื่องที่สนุกน่าสนใจ มีศิลปะในการใช้ภาษา มีประสบการณ์ มีความเข้าใจชีวิต มีความรู้รอบตัวในศาสตร์ต่างๆ อย่างดี จึงจะเขียนบันเทิงคดีได้น่าอ่านและมีประโยชน์ งานเขียนทุกประเภทที่ไม่อยู่ในประเภทของงานวิชาการและสาระคดี ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบของงานเขียนแบบบันเทิงคดีและองค์ประกอบด้านภาษา
องค์ประกอบของงานเขียนแบบบันเทิงคดี เป็นงานเขียนที่มีรูปแบบแตกต่างจากสารคดี ทั้งในด้านเนื้อหาและองค์ประกอบทางภาษา ในด้านเนื้อหานั้นบันเทิงคดีอาจนำเสนอเนื้อหาสาระที่มีความเป็นจริงบ้าง อาทิเช่น การเล่าหรือบรรยายชีวิตความเป็นอยู่ตามธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ของโลกหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามผู้เขียนจะสอดแทรกทัศนะความรู้สึกหรือประสบการณ์ของผู้เขียนในงานที่เขียนด้วย กล่าวคือการถ่ายทอดสาระความรู้ในงานบันเทิงคดีมีความแตกต่างจากการเสนอสิ่งเหล่านี้ในสารคดีผู้เขียนบันเทิงคดีมีจุดประสงค์หลักคือให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน ดังนั้นบันเทิงคดีอาจเป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เป็นจินตนาการของผู้เขียน หรือเป็นการถ่ายทอดจินตนาการของผู้เขียนผสมผสานกับความจริงของปรากฏการณ์ในสิ่งแวดล้อมต่างๆของสังคม ภาษาที่ใช้ในบันเทิงและสารคดีจึงมีแตกต่างกันอย่างชัดเจน
และองค์ประกอบด้านภาษาที่เกี่ยวข้องกับการแปลงานบันเทิงคดีสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ การใช้สรรพนามและคำเรียกบุคคล การใช้คำที่มีความหมายแฝง และภาษาเฉพาะวรรณกรรม เนื่องจากเรากำลังศึกษาและฝึกหัดแปลต้นฉบับภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีคำที่ใช้เรียกบุคคลไม่หลากหลายและยุ่งยากเหมือนภาษาไทย จึงมีการใช้ภาษาที่มีความหมายแฝงและภาษาเฉพาะวรรณกรรมเท่านั้น ภาษาที่มีความหมายแฝงคือ คำศัพท์ที่ประกอบด้วยคำศัพท์ที่มีความหมายตรงตัวหรือความหมายตามตัวอักษร แต่มีคำศัพท์จำนวนมากซึ่งนอกจากมีความหมายตรงตัวแล้วยังมีความหมายแฝงอีกด้วย
โวหารอุปมาอุปไมยทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษมักเกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบคำนามกับคำนามและการเปรียบเทียบคำกริยากับคำกริยา ในการแปลต้นฉบับภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษซึ่งมีองค์ประกอบทางไวยากรณ์ชัดเจนตายตัวผู้แปลต้องเข้มงวดและยึดหลักไวยากรณ์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในการแปลโวหารอุปมาอุปไมยที่เป็นการเปรียบเทียบสิ่งที่เปรียบเทียบเสมือนการสมมติ ซึ่งอาจเป็นการสมมติสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ สำหรับภาษาไทยนั้นไม่ว่าโวหารอุปไมยอุปมานั้นจะเป็นการสมมติแบบใดๆโครงสร้างของภาษาอังกฤษผู้แปลต้องวิเคราะห์การใช้โวหาร
ดังนั้นในการแปลงานบันเทิงคดีผู้แปลต้องให้ความใส่ใจในเรื่องคำศัพท์ทุกตัว ทั้งนี้ก็ต้องมีการพิจารราว่าคำศัพท์นั้นมีความหมายตรงตัวหรือไม่ หรือมีสิ่งที่อยู่รอบตัวนอกเหนือไปจากความหมายตรงตัว อย่างไรก็ดีผู้แปลจะต้องใช้ความสามารถ ปฎิภาณไหวพริบ จินตนาการ รวมทั้งการใช้วิจารญาณเพื่อตัดสินว่าคำศัพท์นั้นที่พบในงานชิ้นนั้น มีความหมายแฝงใดๆอยู่บ้าง ทั้งนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการแปล ในการแปลใดๆหากผู้แปลไม่ได้พิจารณาต้นฉบับอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาโดยรวมในขณะนั้นการอ่านนี้ผู้แปลไม่ควรหาความหมายของคำศัพท์ใดๆแต่อาจทำเครื่องหมายบางอย่างไว้